WHAT'S NEW?
Loading...

ยาเสพติด

ยาเสพติด คือ สารจากธรรมชาติ  หรือจากการสังเคราะห์หรือ สารเคมีชนิดใดก็ตามที่เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะโดยรับประทาน  ดม  สูบ  ฉีด หรือด้วยวิธีใดๆ แล้ว ทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ คือ


1.ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ
2.มีอาการถอนยาเมื่อขาดยา
3.มีความต้องการเสพทั้งร่างกายและจิตใจ
4.มีผลร้ายต่อสุขสภาพกายและสุขภาพจิต
จะเห็นว่า  ยาเสพติดเป็นยาที่ให้โทษมากกว่าคุณ  ดังนั้น กฎหมายจึงควบคุมอย่างเข้มงวด  เช่น ห้ามผลิต  หรือนำเข้า  ห้ามจำหน่าย หรือ มีไว้ครอบครอง  แม้กระทั่งเสพก็ถือว่ามีความผิด

ลักษณะการติดยาเสพติด
ยาเสพติดบางชนิดก่อให้เกิดการติดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่ยาเสพติดบางชนิดก็ก่อให้เกิดการติดทางด้านจิตใจเพียงอย่างเดียว 

การติดยาทางกาย
เป็นการติดยาเสพติดที่ผู้เสพมีความต้องการเสพอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและ จิตใจ เมื่อถึงเวลาอยากเสพแล้วไม่ได้เสพจะเกิดอาการผิดปกติอย่างมาก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเรียกว่า "อาการขาดยา" เช่น การติดฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน เมื่อขาดยาจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หาว น้ำมูกน้ำตาไหล นอนไม่หลับ เจ็บปวดทั่วร่างกาย เป็นต้น 

การติดยาทางใจ
เป็นการติดยาเสพติดเพราะจิตใจเกิดความต้องการ หรือ เกิดการติดเป็นนิสัย หากไม่ได้เสพร่างกายก็จะไม่เกิดอาการผิดปกติ หรือทุรนทุรายแต่อย่างใด จะมีบ้างก็เพียงเกิดอาการหงุดหงิดหรือกระวนกระวายใจเท่านั้น
ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม  โดยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2534 อาจแบ่งยาเสพติดออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ยาเสพติดให้โทษ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
2. วัตถุออกฤทธิ์ ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
3. สารระเหย ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย

ยาเสพติดให้โทษ แบ่งตามความร้ายแรงได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้
ประเภท 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน อาซีทอร์ฟีน อีทอร์ฟีน แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน ฯลฯ
ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น ฝิ่นมอร์ฟีน โคเคอีน (โคเคน) โคเดอีน ฯลฯ
แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน ฯลฯ
ประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษชนิดเป็นตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ปรุงผสมอยู่ด้วย เช่น ยาแก้ไอที่มีฝิ่นหรือโคเดอีนเป็นส่วนผสม ยาแก้ท้องเสียที่มีไดฟีน็อคซิเลท เป็นส่วนผสม ฯลฯ 
ประเภท 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือ ประเภท 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ อาเซติลคลอไรด์ 
ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าข่ายอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม  เห็ดขี้ควาย
วัตถุออกฤทธิ์ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
ประเภท 1 ดีเอ็มที เมสคาลีน แอลเอสดี เดตราไฮโดรแคนนาบินอล ฯลฯ 
ประเภท 2 อีเฟดรีน เมธิลเฟนีเดท เซโคบาร์บิตาล เมธาควาโลน
ประเภท3 อะโมบาร์บิตาล ไซโคลบาร์บิตาล กลูเตธิไมด์ เมโปรบาเมท ฯลฯ
ประเภท4 บาร์บิตาล ฟีโนบาร์บิดาล ไดอาซีแพม คลอไดอาซีพอกไซด์ ฯลฯ

สารระเหย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 
1. กลุ่มเป็นสารเคมี เช่น อาซีโทน เอทิล อาซิเตท โทลูอีน ฯลฯ 
2. กลุ่มที่เป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ทินเนอร์ แล็กเกอร์ กาว ฯลฯ 

ประเภทของยาเสพติด จำแนกตามวิถีการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง
1.ยาเสพติดประเภทกดประสาท
*   ฝิ่น 
*   มอร์ฟีน 
*   เฮโรอีน 
*   สารระเหย 
*   ยากล่อมประสาท และยานอนหลับ 
*   เครื่องดื่มมึนเมา 
*   บุหรี่

2.ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท
*   ยาบ้า
*   ยาอี ยาเลิฟ เอ็กซ์ตาซี
*   โคเคน
*   กระท่อม

3.ยาเสพติดประเภทหลอนประสาท
*   ยาเค
*   sanax

4.ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน
*   กัญชา

ชนิดและแหล่งกำเนิด
กัญชา : มีการลักลอบปลูกกัญชากระจายอยู่ในหลายจังหวัดของภาคต่างๆ พื้นที่ที่มีการลักลอบปลูกมากที่สุดคือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.สกลนคร จ.นครพนม และ จ.มุกดาหาร ส่วนภาคเหนือ พื้นที่หลักได้แก่ จ.ตาก และ จ.พิษณุโลก สำหรับภาคกลางมีการลักลอบปลูกกระจายทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณแนวชายแดนไทย-พม่าด้านตะวันตก ตลอดจนพื้นที่ใน จ.สระบุรี และ จ.ลพบุรี ผลจากการใช้มาตรการต่างๆ ทำให้การผลิตกัญชาทั่วประเทศลดลง ดังจะเห็นได้จาก สถิติการตัดฟันกัญชาสดในปี 2536 จำนวน 301 ตันเหลือเพียง 56 ตันในปี 2541

ฝิ่น : ฝิ่นเป็นพืชล้มลุกขึ้นในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 3,000 ฟุตขึ้นไป เป็นยาเสพติดที่เป็นต้นตอของยาเสพติดร้ายแรง เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน และโคเดอีน นอกจากประเทศไทยจะประสบปัญหาการลักลอบค้าและการลำเลียงฝิ่นตาม แนวชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีการลักลอบปลูกฝิ่นในประเทศไทย โดยใน ปี 2541/2542 มีพื้นที่ปลูกฝิ่นประมาณ 9,007 ไร่ ลดลงจากปี 2540/2541 ประมาณ 279 ไร่ กองทัพบกและตำรวจภูธรได้เข้าปฏิบัติการตัดฟันทำลายไร่ฝิ่น 5,051 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 56.08 ของพื้นที่ปลูกฝิ่นทั้งหมดในประเทศ
พื้นที่ที่มีการลักลอบปลูกฝิ่นมาก ได้แก่ พื้นที่ อ.อมก๋อย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ อ.ปาย อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย และ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยมีการลักลอบปลูกหลายครั้งใน พื้นที่เดียวกัน และมีแนวโน้มที่จะปลูกเพื่อการค้ามากขึ้น

ยาเค : มีการลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยกลุ่มนักค้าชาวต่างประเทศ และกลุ่มคนไทยที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ มีลักลอบจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป มีการแพร่ระบาดตามเมืองใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว เมืองชายทะเลของประเทศ แพร่ระบาดในกลุ่มเยาวชนที่มีการศึกษาสูง ฐานะค่อนข้างดี สาเหตุที่ทำให้ยาเคกลายเป็นปัญหาเพราะวัยรุ่นบางกลุ่มได้นำยาเคมาสูดดมเพื่อเกิดอาการมึนเมา และมักพบว่ามีการนำยาเคมาใช้ร่วมกับยาเสพติดร้ายแรงชนิดอื่น เช่น ยาอี และ โคเคน

ยาบ้า : การผลิตยาบ้าอาศัยเทคโนโลยีและสารตั้งต้นที่หาง่ายกว่าเฮโรอีนมาก การผลิตแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่ การผลิตหัวเชื้อยาบ้า และการผลิตประเภทอัดเม็ด โดยแหล่งผลิตใหญ่ของยาบ้าเป็นชนกลุ่มน้อยตามชายแดนไทย พม่า ทำการผลิตแบบครบวงจรทั้งผลิตหัวเชื้อและผลิตอัดเม็ด ซึ่งสามารถผลิตได้ปีละหลายร้อยล้านเม็ด และตลาดส่วนใหญ่ของผู้ผลิต ก็คือเยาวชนของไทย ผิดกับเฮโรอีนซึ่งประเทศไทยมักจะเป็นทางผ่านเพื่อส่งต่อไปยังประเทศอื่น สำหรับการผลิตในประเทศเป็นการผลิตอัดเม็ดโดยใช้หัวเชื้อยาบ้าจากพื้นท ี่ชายแดนภาคเหนือเป็นหลัก โดยมีฐานการผลิตอยู่ไม่น้อยกว่า 15 จังหวัดเป็นแหล่งอัดเม็ดขนาดใหญ่ ที่สามารถอัดเม็ดยาบ้าเป็นจำนวนล้านเม็ด แต่ที่ร้ายแรงไปกว่านั้น ปัจจุบันเรายังพบหลักฐานว่ามีการอัดเม็ดในลักษณะอุตสาหกรรมครัวเรือน (Home Lab) โดยมีอุปกรณ์ตอกเม็ดขนาดเล็กซึ่งตอกเม็ดยาบ้าที่ผสมแอมเฟตามีนกับสารประกอบอื่นๆ  เช่น คาเฟอีน อีฟีดีน และแป้ง เป็นต้น กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ยาอี : ยาอี ยาเลิฟ เอ็กซ์ตาซี่ (Ecstasy)เป็นยาเสพติดกลุ่มเดียวกันแต่จะแตกต่างกันบ้างในด้านโครงสร้างทางเคมี มีการลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทย โดยกลุ่มนักค้าชาวต่างประเทศ และกลุ่มคนไทยที่ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ

เฮโรอีน : เนื่องจากเฮโรอีนออกฤทธิ์ได้ไวและแรงกว่ามอร์ฟีนและฝิ่น วงการแพทย์จึงได้นำเฮโรอีนมาใช้เป็น ยาระงับอาการเจ็บปวดของทหารในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ.1898 (พ.ศ.2441) ต่อมาพบว่าเฮโรอีนทำให้เกิดการเสพติดและทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นโทษอย่างร้าย แรงจึงเลิกนำมาใช้ โดยสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายระบุให้เฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง เมื่อปี ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467)หลังจากนั้นต่อมาอีก 35 ปี คือ เมื่อปี พ.ศ. 2502 เฮโรอีนจึงได้แพร่ระบาดสู่ประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยจึงออกกฎหมายระบุให้เฮโรอีนและมอร์ฟีนเป็นยาเสพติดให้โทษ

ลักษณะยาเสพติดแต่ละชนิด
1. เฮโรอีน
*   เฮโรอีนบริสุทธิ์  ลักษณะเป็นผงสีขาว  ไม่มีกลิ่น  รสขมจัด  มีเนื้อเฮโรอีนประมาณ 90 - 95 เปอร์เซ็นต์  นิยมเรียก "ผงขาว"
*   เฮโรอีนผสม ลักษณะเป็นเกล็ด  ไม่มีกลิ่น  มีหลากสีต่างๆ   มีเนื้อเฮโรอีนประมาณ 5 - 20 เปอร์เซ็นต์  เป็นสารเฮโรอีนไม่บริสุทธิ์ เพราะมีสารพิษเป็นส่วนผสมอยู่  นิยมเรียกกันทั่วไปว่า  "แค็ปไอระเหย" นิยมเสพโดยวิธีการสูดไอระเหย
2. ฝิ่น
ฝิ่น  เป็นพืชล้มลุก  เนื้อฝิ่นได้มาจากยางที่กรีดมาจากผล  มีสีน้ำตาลกลิ่นเหม็นเขียว  รสขม  เรียกว่า "ฝิ่นดิบ"  หากนำมาต้ม  เคี่ยว  หรือ  หมัก  จะมีสีน้ำตาลไหม้ปนดำ  มีรสขม  เรียกว่า  "ฝิ่นสุก"  ฝิ่นจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2   เสพโดยการสูบด้วยกล้อง  หรืออาจเสพโดยรับประทานในรูปของฝิ่นก้อน
3. มอร์ฟีน  เป็นสารสกัดมาจากฝิ่นเช่นเดียวกับเฮโรอีน
มอร์ฟีน เป็นผงสีขาวหรือเทาเกือบขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขม มีฤทธิ์สูงกว่าฝิ่นประมาณ 8-10 เท่า เสพติดได้ง่าย มีลักษณะเป็นเม็ด เป็นผง และเป็นก้อน หรือละลายบรรจุหลอดสำหรับฉีด นำเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีฉีดเป็นส่วนมาก มอร์ฟีนมีลักษณะ 2 รูป คือ รูปอิสระ (Free) และรูปเกลือ (Salt) สำหรับมอร์ฟีนที่มีลักษณะเป็นรูปของเกลือ ได้แก่ ซัลเฟท (Sulfate) ไฮโดรคลอไรด์ (Hydrochloride) อาซิเตท (Acetate) และทาร์เตรท (Tratrate) มอร์ฟีนรูปเกลือที่นิยมทำมาก คือ ซัลเฟท


4. กัญชา
กัญชาเป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้าขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ลำต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-8 แฉก คล้ายใบมันสำปะหลังที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่นิยมนำมาเสพ คือก้าน ใบ และยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้งแล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบๆ จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบ หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยวหรือผสมลงในอาหารรับประทาน 
ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบนอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้วยังอาจพบในรูปของ "น้ำมันกัญชา" (Hashish Oil) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลายๆ ครั้ง หรืออาจพบในลักษณะของ "ยางกัญชา" (Hashish) ซึ่งทำจากเกษรของดอกกัญชามีลักษณะเป็นผงละเอียดและ มีส่วนที่เป็นยางเหนียวมากกว่ากัญชาชนิดอื่น เป็นต้น
5. เหล้าแห้ง
                เป็นอนุพันธ์หนึ่งของยากดประสาทมีชื่ออื่นๆ ว่า เซโคนาลปีศาจแดง ยานี้มีฤทธิ์กดประสาท จะทำให้เกิดอาการมึนงง มึนเมา การใช้นานๆ ทำให้ประสาทเสื่อม ประสาทหลอนขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำให้เกิดความบ้าบิ่น ใจคอหงุดหงิด  ก้าวร้าวรุนแรง  และมีความโน้มเอียงที่จะทำร้ายตนเอง เช่น ใช้มีกรีดแขน คอ จนถึงฆ่าตัวตายได้
6. สุรา
เป็นของเหลว ไม่มีสี   ในสุราจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ (ETHYL ALCOHOL) ผสมอยู่ในปริมาณไม่เกิน 60 % ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่คนสามารถใช้ดื่มได้ (เป็นเกณฑ์กำหนดของสากลทั่วไป   มีสีต่างๆ  บรรจุใส่ภาชนะ ขวด  รูปทรงต่าง  ๆ  แต่งสีกลิ่น เพื่อล่อใจผู้ซื้อ
7. บุหรี่  
                เป็นพืชชนิดหนึ่ง  ที่นำใบมาตาก หรือ อบแห้ง เรียกว่าใบยาสูบ แล้วนำมาหั่น เป็นเส้นแล้วมวนด้วยกระดาษบรรจุกล่องสวยงามล่อใจ
ในบุหรี่มีสารที่สำคัญตัวหนึ่งมีชื่อว่า  นิโคติน  ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์แรงที่สุด  ในบรรดาสารทั้งหลายที่อยู่ในควันบุหรี่ เป็นสารอัลคาลอยด์ที่ไม่มีสี  แต่มีพิษมาก ออกฤทธิ์ได้ทั้งเป็นตัวกระตุ้น กดและกล่อมประสาทส่วนกลางของสมองเรา เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนติดบุหรี่ 
 นิโคตินเพียงแค่  30  มิลลิกรัม  ก็สามารถทำให้คนตายได้ ในขณะทีสูบบุหรี่ธรรมดามวนหนึ่ง มีนิโคตินอยู่ราว  15-20  มิลลิกรัม  นั่นก็คือ  จำนวนนิโคตินในบุหรี่ 2 มวน จะทำให้คนตายได้ทันที่แต่การที่คนสูบบุหรี่ติดต่อกันหลายมวนแล้วไม่ตาย  ก็เพราะว่ามีนิโคตินในควันบุหรี่เป็นส่วนน้อยที่เข้าสู่ร่างกายของผู้สูบ
 นิโคตินจะไปออกฤทธิ์ทั้งที่สมองส่วนกลาง  ระบบหัวใจ  หลอดเลือด และที่ระบบการหายใจ 


8. ยาบ้า
ยาบ้า  ยาม้า  หรือ  ยาขยัน  เป็นยาเม็ดกลมแบนขนาดเล็ก  มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท  ทำให้ผู้เสพรู้สึกตื่นตัวยาบ้ามีส่วนผสมของ แอมเฟตามีนมีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว   ไม่มีกลิ่น  มีรสขมนิด ๆ   มีฤทธิ์เป็นกรด   นำมาผสม กับสิ่งเจือปนต่าง ๆ  ได้แก่  แป้ง  คาเฟอีน  สี  แล้วนำไปอัดเป็นเม็ด  น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ  0.11  กรัมต่อเม็ด  มีสีขาว  เหลือง  น้ำตาล  หลากสี  นอกจากนี้ยังมีชนิดผง  แคปซูล  และน้ำ
9. ยาอี  หรือยาเลิฟ หรือ  เอ๊กซ์ตาซี
ลักษณะของยาอี มีทั้งที่เป็นแคปซูล และเป็นเม็ดยาสีต่าง ๆ แต่ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8 - 12 ซ.ม. หนา 0.3 - 0.4 ซ.ม. ผิวเรียบ และปรากฏสัญลักษณ์บนเม็ดยาเป็นรูปต่าง ๆ เช่น กระต่าย, ค้างคาว, นก, ดวงอาทิตย์, P.T.ฯลฯ เสพโดยการรับประทานเป็นเม็ด จะออกฤทธิ์ภายในเวลา 45 นาที และฤทธิ์ยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6 - 8 ชั่วโมง
10. โคเคน
โคเคน หรือ โคคาอีน (Cocaine)   ชื่ออื่น ๆ     คือ  COKE , SNOW , SPEED BALL หรือ CRACK  โคเคนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ โคเคนเบส (Cocaine base) และ เกลือโคเคน เช่น โคเคนไฮโดรคลอไรด์ (Cocaine hydrochloride) และโคเคนซัลเฟต (Cocaine sulfate)
โคเคนที่พบในประเทศไทย มี 2 ชนิด ได้แก่
*   โคเคนชนิดผง มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาว รสขม ไม่มีกลิ่น
*   โคเคนรูปผลึกเป็นก้อน (Free base , crack)
11. กระท่อม
กระท่อมมีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางมีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง ใช้ส่วนของใบเป็นสิ่งเสพติด ลักษณะใบคล้ายใบกระดังงาหรือใบฝรั่งต้นหนาทึบ ต้นกระท่อมมี 2 ชนิด คือ
*   ชนิดที่มีก้านและเส้นใบ เป็นสีแดงเรื่อๆ
*   ชนิดที่ต้นสีเขียว ใบสีเขียว ดอกกลมโตเท่าผลพุทราไทยล้อมรอบด้วยเกสรสีแดงเรื่อๆ คล้ายดอกกระถิน มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น กระทุ่มโคก กระทุ่มพาย เป็นต้น
กระท่อมเป็นพืชเสพติดชนิดหนึ่ง ส่วนมากพบในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศอินเดียและในประเทศไทย กระท่อมไม่ขึ้นแพร่หลายทั่วไป จึงไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นกับชาวตะวันตก และอเมริกา ดังนั้น จึงไม่มีชื่อเป็นภาษาต่างประเทศ แต่เรียกชื่อทับศัพท์ตามภาษาไทยว่า Kratom
12. ยาเค
มีลักษณะเป็นผงสีขาว ผลึก หรือ เป็นน้ำบรรจุอยู่ในขวดสีชา ยาเค เป็นยาที่มีอันตรายสูงที่แพทย์จะจ่ายให้กับผู้ป่วยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นจริงเท่านั้น ยาเคถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์โดย ใช้เป็นยาสลบมีชื่อเรียกในวงการแพทย์ว่า "KETAMINEHL" การนำไปใช้นั้นปกติแพทย์จะใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดในอัตรา 1 ถึง 2 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยยาจะออกฤทธิ์ทำให้หมดสติภายในเวลา 1 นาที หรืออาจใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่วิธีนี้จะใช้ปริมาณยามากกว่าการฉีดเข้าเส้นเลือดประมาณ 3 เท่า อาการหมดสติจากการใช้ยาเคจะเป็นอยู่นานประมาณ 10 - 15 นาที เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ยาเคจึงถูกนำมาใช้ในกรณี ของการผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ หรือใช้ทำให้ผู้ป่วยสลบก่อนที่จะผ่านไปสู่การใช้ยาสลบชนิดอื่น


สารพิษในยาเสพติด
กัญชา     : เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinal)
ฝิ่น          : Morphine และ อัลคาลอยด์ของฝิ่น
ยาเค       :  คีตามีน
ยาบ้า       : เมทแอมเฟตามีน ไฮโดรคลอไรด์(Methamphetamine Hydrochloride)
ยาอี         : 3,4-Methylenedionymethamphetamine (MDMA) หรือ
   3,4-Methylenedionyamphetamine (MDA) หรือ
   3,4-Methylenedionyethylamphetamine (MDE หรือ MDEA)
เฮโรอีน   : สารหนู สตริกนิน กรดประสานทอง น้ำกัญชาต้ม ยานอนหลับ และเจือสีต่างๆ เช่น สีม่วงอ่อน

อาการของผู้เสพ

กัญชา
ระยะแรกของการเสพ        ผู้เสพติดกัญชาในระยะแรกจะมีอาการร่าเริง  ตื่นเต้น หัวเราะง่าย พูดมาก
ระยะต่อมาของการเสพ     ง่วงนอน  ซึม  เห็นภาพลวงตา  ภาพหลอนต่าง เกิดอาการหูแว่ว หวาดระแวง ความจำเสื่อม  ความคิดสับสน ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มีอาการทางจิต
ฝิ่น
ขณะที่เสพ   จะมีอาการจิตใจเลื่อนลอย  ซึม  ง่วง  พูดจาวกวนไปมา  อารมณ์ดี  ความคิดและการตัดสินใจเชื่องช้า
เสพติดต่อกันเป็นเวลานาน  ร่างกายจะทรุดโทรม  ตัวเหลืองซีด  ซูบผอม  ตาเหม่อลอย  ริมฝีปากเขียวคล้ำ  อ่อนเพลียง่าย  ซึมเศร้า  อารมณ์แปรปรวนง่าย  ความจำเสื่อม  อาการขาดยา หงุดหงิด  กระวนกระวาย  ฉุนเฉียว น้ำมูก น้ำตาไหล ขนลุก  ตัวสั่น  เหงื่อออก ม่านตาขยายผิดปกติ ปวดบิดในท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน บางรายถึงกับถ่ายเป็นเลือด  ซึ่งเรียกว่า "ลงแดง" หายใจลำบาก  อาจชัก  และหมดสติได้
ยาเค
เป็นยาที่ออกฤทธิ์หลอนประสานอย่างรุนแรง เมือเสพเข้าไปจะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม (Euphoria) รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจพิเศษ (Mystical) มีอาการสูญเสียกระบวนการทางความคิด ความคิดสับสน การรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภาพ แสง สี เสียงจะเปลี่ยนแปลงไป ตาลาย ร่างกายเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กันหากใช้ปริมาณมากจะเกิดการติดขัดในการหายใจ(Respiratory depression)อาการที่ไม่พึ่งประสงค์เหล่านั้น (Bad Trip) จะปรากฏให้เห็นคล้ายกับอาการทางจิต ซึ่งหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะปรากฏอาการ เช่นนี้อยู่บ่อย ๆ เรียกว่า Flash back ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะทำให้ผู้เสพประสพกับสภาวะโรคจิต และกลายเป็นคนวิกลจริตได้
ยาบ้า
เป็นยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย ในระยะแรกจะออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ประสาทล้าทำให้การตัดสินใจช้าและผิดพลาด เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม เกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง เสียสติ เป็นบ้า อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ หรือในกรณีที่ได้รับยาในปริมาณมาก (Over dose) จะไปกดประสาท และระบบการหายใจทำให้หมดสติ และถึงแก่ความตายได้
ยาอี
ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในช่วงเวลาสั้น ๆ จากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง ทำให้การมองเห็นภาพและรับฟังเสียงผิดไปจากความเป็นจริง ผู้เสพจะมีความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ อันเป็นสาเหตุไปสู่พฤติกรรมมั่วเพศ ฤทธิ์ของยาในระยะสั้นทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง อาจทำให้เกิดอาการสั่น ชัก บางคนอาจมีอาการมากถึงขั้นระยะการหายใจล้มเหลว จนทำให้ตายได้ ในกรณีที่ใช้ต่อเนื่องจะเกิดอาการเสพติดและทำให้ระบบประสาทหลั่งสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้มนุษย์มีความสุขลดน้อยลงหรือหมดไป ผู้เสพติดที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าจึงมีแนวโน้มในการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ
เฮโรอีน
ออกฤทธิ์รุนแรงในทางกดประสาท ได้แก่ ศูนย์ประสาทส่วนการหายใจ สมองส่วนหน้า กดประสาทส่วนไขสันหลัง และออกฤทธิ์แสดงปฏิกิริยาต่อระบบประสาทส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบขับถ่ายปัสสาวะ และระบบการไหลเวียนของโลหิตในร่างกาย ผู้ที่ไม่เคยเสพเฮโรอีน เมื่อเสพเข้าไปจึงอาจติดได้ง่ายกว่าฝิ่นหรือมอร์ฟีน เพราะมีฤทธิ์เข้มข้นรุนแรงกว่ามากมาย ถ้าเสพเข้าไปมากเกินกำลังความต้านทานของร่างกายก็อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นถึงตายได้ ผู้เสพเฮโรอีนมักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดตามข้อ ปวดสันหลัง ปวดบั้นเอว และปวดหัวอย่างรุนแรง มีอาการจุกแน่นในอก คล้ายใจจะขาด อ่อนเพลียอย่างหนัก หมดเรี่ยวแรง  ร้อนๆ อึดอัดทุรนทุราย  นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย บางรายมีอาหารชัก ตาตั้ง น้ำลายฟูมปาก ม่านตาดำหดเล็กลง ใจคอหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน มึนงง หายใจไม่ออก ประสาทเสื่อม และความจำเสื่อม



โทษของยาเสพติด

จำแนกโทษตามการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท 

 1.  ประเภทกดประสาท  ได้แก่  ฝิ่น  มอร์ฟีน   เฮโรอีน  ยานอนหลับ  ยาระงับประสาท  ยากล่อมประสาท  เครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิด (เหล้าเบียร์)  บุหรี่  รวมทั้งสารระเหยประเภทต่าง ๆ  เช่น  ทินเนอร์  แล็กเกอร์  น้ำมันเบนซิน  กาว  เป็นต้น  มักพบว่า  ผู้เสพติดมีร่างกายซุบซีด   ผอมเหลือง  อ่อนเพลีย  ฟุ้งซ่าน   อารมณ์
เปลี่ยนแปลงง่าย  บางครั้งมีอาการคลุ้มคลั่ง  หรือทำในสิ่งที่คนปกติไม่กล้าทำ  เช่น  ทำร้ายตนเองหรือฆ่าผู้อื่น  เป็นต้น
 2.   ประเภทกระตุ้นประสาท   ได้แก่  แอมเฟตามีน  (ที่เรียกกันว่า "ยาม้า"  "ยาขยัน"  ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "ยาบ้า")  กระท่อม  โคคาอีน  โคเคน  เอ็กซ์ตาซี  มักพบว่าผู้เสพติดจะมีอาการหงุดหงิด  กระวนกระวาย  จิตสับสน  คลุ้มคลั่ง  หวาดระแวง  หรือมีอาการทางประสาท
3.   ประเภทหลอนประสาท   ได้แก่  แอลเอสดี  ดีเอ็มที   และเห็ดขี้ควาย  เป็นต้น   ผู้เสพติดจะมีอาการประสาทหลอนทางตา  หู  จมูก  และลิ้น  เช่น  ฝันเฟื่อง  เห็นแสงสีวิจิตรพิสดาร  หูแว่วได้ยินเสียงประหลาด  หรือเห็นภาพหลอนที่น่าเกลียดน่ากลัว  ควบคุมตนเองไม่ได้  ในที่สุดมักป่วยเป็นโรคจิต
 4.   ประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน   อาจกด  กระตุ้น  หรือหลอนประสาทร่วมกัน  ได้แก่  กัญชา   ผู้เสพติดมักจะเกิดอาการประสาทหลอน  เห็นภาพลวงตา  หูแว่ว  หรือมีอาการหวาดระแวง  ความคิดสับสน  ควบคุมตนเองไม่ได้  และป่วยเป็นโรคจิตในที่สุด

การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย มีหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ 
1. การลดอุปทาน หรือ ลดปริมาณยาเสพติด (Supply Reduction) 
2. การลดอุปสงค์ หรือ ลดความต้องการใช้ยาเสพติด (Demand Reduction) 

การลดอุปทาน 
การดำเนินงานลดปริมาณยาเสพติด ใช้มาตรการ ดังนี้ 
*   มาตรการควบคุมพืชเสพติด  การควบคุมพืชเสพติดในพื้นที่ปลูกฝิ่น ดำเนินการโดยใช้วิธีพัฒนาชนบทแบบผสมผสานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ของกลุ่มประชากรเป้าหมายที่ลักลอบปลูกฝิ่น ควบคู่ไปกับการตัดฟันทำลายฝิ่นที่มีการลักลอบปลูก การป้องปรามไม่ให้มีการปลูกพืชเสพติดโดยให้การศึกษา เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และปฏิบัติการทางจิตวิทยา สร้างเงื่อนไขกดดันกลุ่มประชากรเป้าหมาย ส่วนการควบคุมพื้นที่ปลูกกัญชา ใช้วิธีการปราบปรามด้วยการตัดฟันทำลายไร่กัญชา ปราบปรามนายทุน และปฏิบัติการทางจิตวิทยากดดัน ป้องปรามผู้ลักลอบปลูกกัญชา 
*   มาตรการปราบปราม  ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นปราบปรามการผลิตเฮโรอีน ยาบ้า ด้วยการสกัดกั้นจับกุมการนำเข้าสารเคมี จับกุมทำลายแหล่งผลิตและขยายผลไป ถึงนายทุนที่อยู่เบื้องหลังนอกจากนั้นยังดำเนินการปราบปรามกลุ่มการค้าและลำเลียงลักลอบขนยาเสพติดข้ามมาจากชายแดน เขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ได้มุ่งเน้นขยายงานสืบสวนจับกุมผู้จำหน่ายยาเสพติด นอกจากนี้ ยังได้มีการริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติดควบคู่กันไปด้วย

การลดอุปสงค์
การดำเนินงานลดความต้องการใช้ยาเสพติด ใช้มาตรการ ดังนี้ 
*   มาตรการป้องกันยาเสพติดและให้ภูมิคุ้มกัน เป็นการให้การศึกษา ข่าวสาร ความรู้ และข้อมูลในเรื่องของยาเสพติดอย่าง ถูกต้องด้วยวิธีการต่างๆ ไปสู่ประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันมิให้ประชาชนหันไปใช้ยาเสพติด ขณะเดียวกันก็ดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของตัวยา รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมมิให้มีส่วนผลักดันให้เกิดปัญหายาเสพติด ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ 
1. ใช้กระบวนการทางการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน เพื่อ ให้ความรู้ ปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมในการต่อต้านยาเสพติด 
2. พัฒนาเนื้อหา กลยุทธ์ เทคโนโลยีในการให้การศึกษา การเผยแพร่ และการผลิตสื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การรับรู้ ขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มเป้าหมาย โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 
3. นำวิธีการป้องปรามมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มเสี่ยง 
4. จัดให้มีกิจกรรมทางเลือกที่เหมาะสม เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม โดยปลูกฝังนิสัยการไม่ใช้ยาเสพติด 
5. ระดมทรัพยากรและความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามามีส่วน ร่วมในการป้องกันยาเสพติดอย่างเป็นระบบ 
6. สร้างแนวร่วมการป้องกันการใช้ยาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรมในทุก ระดับ โดย ให้สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา และองค์กรประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด 
7. สร้างเสริมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตโดยปราศจาก การใช้ยาเสพติด จัดทำระบบข้อมูลข่าวสารและวิชาการเกี่ยวกับการป้องกันยาเสพติด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานและการประสานงาน 
8. ศึกษาวิจัยและติดตามประสิทธิผลเพื่อพัฒนารูปแบบการป้องกัน ยาเสพติดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหา 
*   มาตรการบำบัดรักษา การบำบัดรักษายาเสพติดเป็นมาตรการหลักอย่างหนึ่งในการแก้ ปัญหายาเสพติด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดหยุดเสพยาให้นานที่สุดจนสามารถเลิกได้โดย เด็ดขาดเพื่อลดความเดือดร้อนของสังคม ลดการแพร่ระบาดของยาเสพติด และเพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ เนื่องจากการติดยาเสพติดเป็นการป่วยทั้งทางกายและจิตใจ ดังนั้น การบำบัดรักษานอกจากจะถอนพิษยาเพื่อรักษาอาการทางร่างกายแล้ว ยังจะต้องมีการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดฟื้นคืนจากอาการ ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปกติได้โดยไม่หวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก ซึ่งการถอนพิษยาอาจทำได้โดย ใช้ยาทดแทน ใช้ยาระงับอาการ หรือใช้วิธีหักดิบ เป็นต้น ส่วนการฟื้นฟูสมรรถภาพ อาจทำได้โดย ใช้แบบมาตรฐาน ชุมชนบำบัด ครอบครัวบำบัด และศาสนาบำบัด เป็นต้น


















0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น